Sunday, January 31, 2010

การเคลื่อนไหวของ นปก. UDD pro democracy movement

article : SIAM Freedom Fight

01
หลังจากการเดินขบวนของ นปก. เมื่อคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550

การชุมนุมขับไล่คณะรัฐประหารที่ท้องสนามหลวง ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน เริ่มตั้งแต่ช่วงห้าโมงเย็น
ไปจนถึงห้าทุ่ม เที่ยงคืน บางคืนเลยไปถึงตีหนึ่ง

ส่วนความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐประหาร หรือ คมช. ยิ่งเข้มข้นขึ้นตามลำดับ
มีการเคลื่อนกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม เข้ามาประจำตามจุดต่างๆรอบสนามหลวง
มีการตั้งด่านสกัด ตรวจค้นตามท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ และฝั่งธนบุรี เช่น
ถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงบางอ้อ - บางพลัด จะมีด่านทหารตั้งอยู่ทุกคืน

กำลังทหารใกล้พื้นที่สนามหลวงนั้น มีเพื่อก่อกวน ข่มขู่ และสร้างความลำบากแก่ผู้เดินทางมาชุมนุมในตอนเย็น
ถึงแม้สื่อมวลชนกระแสหลักจะเต้าข่าวในลักษณะว่าผู้ชุมนุม นปก. เป็นม๊อบรับจ้าง เป็นคนรากหญ้าที่ยากจน และ
มีจำนวนเพียงน้อยนิด แต่เมื่อพิจารณาจากวิธีสกัดกั้นการเดินทางของผู้มาชุมนุม จึงพอดูออกว่า คมช. เอง..ก็รู้ว่า
ผู้ชุมนุมเหล่านี้คือ ชนชั้นกลางในกรุงเทพเป็นส่วนใหญ่ มิเช่นนั้นแล้ว พวกเขาจะมาเสียเวลาสกัดกั้นก่อกวนผู้คน
ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวทำไม (?)

ผู้ชุมนุม นปก. ส่วนใหญ่จะมาถึงสนามหลวงในช่วงทุ่มครึ่ง ถึง สองทุ่มครึ่ง และอยู่ยาวไปจนจบรายการในแต่ละคืน
เนื่องจากมีภาระครอบครัว ต้องรอเลิกงาน ส่งลูกกลับบ้าน ดูแลครอบครัว แล้วจึงเดินทางออกมาร่วมกับ นปก.
พื้นที่สนามหลวงที่ใช้นั้นจะใช้เพียงครึ่งเดียว (แล้วแต่ช่วงไหนตั้งเวทีมุมไหน) อีกครึ่งหนึ่งใช้เป็นพื้นที่จอดรถของ
ผู้ร่วมชุมนุม

หลังจากการเดินขบวนของ นปก. เมื่อคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550
ทหาร คมช. ก่อกวนอย่างหนักในช่วงแรก มีการแอบปิดถนน ตั้งด่านสกัดตามจุดต่างๆ แต่ไม่สามารถยับยั้งประชาชน
มิให้มาสนามหลวงได้ - ในครั้งหนึ่งนั้น นปก.ส่ง อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง พร้อมรถเครื่องขยายเสียงออกไป ยืนด่าจน
ทหารยอมเปิดถนนให้ประชาชนสัญจรได้ตามปกติ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อริสมันต์ถูกแจ้งข้อหา ใช้เครื่องเสียงโดย
ไม่ได้รับอนุญาต และถูกปรับสองร้อยบาท..ที่โรงพักชนะสงคราม (จำวันที่ไม่ได้ รอตรวจสอบวันที่ที่แน่นอนอีกครั้ง)

วันต่อมา.. คมช. เพิ่มกำลังทหารตามจุดต่างๆ มีการปิดถนนใต้สะพานปิ่นเกล้า แต่ก็ถูกรถแท๊กซี่จำนวนมาก (มากัน
เต็มท้องถนน ยาวเหยียด) เข้าไปจอดรถล้อมทหารไว้อีกที แล้วลงมายืนตะโกนด่าทออยู่เป็นเวลานาน จนในที่สุด ทหาร
ยอมเปิดถนนใต้สะพานปิ่นเกล้า ซึ่งกรณีนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนทำกันเอง .. นปก. ไม่เกี่ยว

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทหารมายืนอุดสะพานข้ามคลองหลอด ห้ามคนเดินข้ามสะพาน

ถ้าจะเดินจากฝั่งโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปฝั่งสนามหลวง ต้องไปเดินอ้อมอีกสะพานหนึ่ง บริเวณถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า
งานนี้สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างเสมอภาค ทั้งพ่อค้า แม่ค้า นปก. และไม่ใช่ นปก.

และเนื่องมาจากนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เพิ่งถูกปรับ ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อวันก่อน
นปก. จึงไม่ให้มีการนำเครื่องขยายเสียงออกนอกพื้นที่สนามหลวง แต่ใช้วิธี "ยืนถือป้ายประท้วงอย่างเงียบๆ ไม่ส่งเสียง
ไม่พูดอะไรสักคำ" คนที่ถือป้ายนั้น เข้าไปยืนเบียดกับทหารที่ปิดสะพาน ยืนยิ้มอยู่นิ่งๆ ส่วนข้อความในป้ายประท้วงนั้น
เป็นในเชิงตัดพ้อ เช่น "ไหนบอกว่ารักประชาชน"

ถึงแม้คนของ นปก. จะยืนประท้วงอย่างนิ่งสงบ (เบียดติดกับตัวทหาร) สุภาพและยิ้มแย้ม

แต่ประชาชนทั่วไปที่รายล้อมรอบด้าน ต่างพากันส่งเสียงด่าทอทหารอยู่ตลอดเวลา เช่น
"มึงมาทำอะไร ?" "ทำไมไม่ไปอยู่ภาคใต้" หรือ
"มึงไปรบกับคนที่มีปืนแล้วแพ้กลับมาใช่มั๊ย แล้วมากร่างกับชาวบ้านที่ไม่มีปืน" เป็นต้น

เวลาผ่านไป ประชาชนยิ่งเพิ่มมากขึ้น
จนกลับกลายเป็นว่า..ทหารตกอยู่ในวงล้อมของประชาชนหลายร้อยคน

บริเวณเชิงสะพานเดินข้ามคลองหลอดเนื่องแน่น
และดังสนั่นด้วยเสียงก่นด่า ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่จำนวนไม่มากนัก และตลอดเวลา..
ตำรวจจะยืนคุยกันเอง ไม่ได้สนใจทหารที่ถูกล้อมอยู่บนสะพานเลย (ยืนห่างกันไม่กี่เมตร)
จนในที่สุด ทหารก็ถอนกำลังกลับไป ..สะพานเปิดใช้ได้ดังเดิมก่อนพระอาทิตย์ตก

หลังจากวันนั้น การก่อกวนประชาชนที่มาร่วมชุมนุมก็เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
แต่เปลี่ยนไปเป็นการก่อกวนแกนนำ นปก. และเจ้าหน้าที่ของ นปก. แทน..

การชุมนุมประท้วงขับไล่คณะรัฐประหาร คมช. ดำเนินต่อไป ..
เริ่มมีการพูดถึง "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" บ่อยครั้ง จนกลายเป็นคำที่คุ้นหูของผู้ร่วมชุมนุม นปก. ทั่วไป

วันที่ 15 มิถุนายน 2550 ดร. ทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยจากประเทศอังกฤษผ่านบันทึกวิดีโอ ที่ท้องสนามหลวง
เป็นครั้งแรก..นับแต่ถูกรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่ ดร. ทักษิณ มีโอกาสพูดคุยกับประชาชนจำนวนมาก
ในคืนนั้น มีผู้คนเต็มครึ่งสนามหลวง -

พื้นที่สนามหวลง ไม่รวมถนนและทางเดิน มีพื้นที่ 56,000 ตารางเมตร
ครึ่งสนามหลวงที่ใช้ทำกิจกรรม มีพื้นที่ 28,000 ตารางเมตร ..
พื้นที่นั่งต่อหนึ่งคน ประมาณว่าใช้คนละ 0.8 x 0.8 ตารางเมตร
พื้นที่ยืนต่อหนึ่งคน ประมาณว่าใช้คนละ 0.6 x 0.6 ตารางเมตร
ครึ่งสนามหลวง น่าจะนั่งได้แบบหลวมๆสัก 40,000คนขึ้นไป และยืนได้สัก 70,000 คนขึ้นไป
หักพื้นที่ตั้งเต๊น ร้านค้าต่างๆแล้ว ก็น่าจะลบออกไปไม่เกินหนึ่งพันคน


แล้วถ้าคนเต็มครึ่งสนามหลวง ทั้งนั่งและยืน..จะมีจำนวนคนเท่าใด ??
ซึ่งในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ ดร. ทักษิณพูดคุยกับผู้ชุมนุม นปก. นั้น จำนวนผู้คนยังน้อยกว่าการชุมนุม
ของ "คนเสื้อแดง" ที่ท้องสนามหลวงในห้วงเวลาต่อมาอีกมากมายนัก..

02
กรกฎาคม 2550 ขยายแนวร่วมสู่ภาคอีสาน ภาคเหนือ


แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) จัดเดินขบวนในกรุงเทพฯ 4 ครั้ง
ครั้งแรกวันที่ 9 มิถุนายน ครั้งที่สอง 23 มิถุนายน ไปที่กองบัญชาการกองทัพบก
ครั้งที่สามวันที่ 1 กรกฎาคม ไปบ้านสี่เสาแต่ไปไม่ถึง..หยุดขบวนปักหลักกันที่แยกเทเวศน์
จนถึงครั้งที่สี่ ในวันที่ 22 กรกฎาคม ไปถึงบ้านสี่เสา ปราศรัยอยู่หกชั่วโมง จนกระทั่งตำรวจสลายการชุมนุม
เกิดปะทะกันบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย - นอกจากการเดินขบวน การปราศรัยที่ท้องสนามหลวงทุกคืนแล้ว ยังมี
ยุทธการดาวกระจายไปตามจุดต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถือกันว่ารัฐธรรมนูญ
ฉบับนี้ เป็นคัมภีร์สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและระบอบอำมาตยาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม
พลังขับเคลื่อนสำคัญกลับเป็นพลังในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงเดิมของพรรคไทยรักไทย
สิ่งที่น่าสนใจ ..หรืออาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับการเมืองไทยก็ว่าได้ คือ ประชาชนในภาคอีสาน เหนือ
มีความกระตือรือร้น และมีความเข้าใจทางการเมืองมากกว่าที่คนกรุงเทพฯจินตนาการ และความสนใจ ความ
เข้าใจทางการเมืองนี้ น่าจะสูงกว่าคนกรุงเทพฯ ที่ถือว่าตนอยู่กลางข้อมูลข่าวสารด้วยซ้ำ ..

อาจเป็นเพราะ เมื่อสื่อมวลชนกระแสหลัก (ในกรุงเทพฯ) เสนอข่าวด้านเดียว คือด้านของอำมาตยาธิปไตย
เสนอกันด้านเดียวเช่นนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2548 ก็มีแต่คนกรุงเทพ และ/หรือ คนต่างจังหวัดที่ปรารถนา
จะเป็นเช่นคนกรุงเทพ
ที่รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก -

ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อย ไม่เชื่อและไม่รับฟังสื่อกระแสหลักเหล่านี้อีกต่อไป ..

และในเวลาเดียวกัน สื่อทางเลือกอื่น เช่น อินเตอร์เนต มีเพิ่มมากขึ้นเพื่อสื่อสารกันเองใน "กลุ่มประชาชนที่
ไม่เชื่อถือสื่อกระแสหลักของไทย" ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นข่าวที่กรองแล้ว
ข่าวจากสื่อหลักที่ผ่านการตรวจสอบ ผ่านการเปรียบเทียบข้อเท็จจริงจาก"สื่อทางเลือก"
นอกจากนั้นยังมีข่าวจากสื่อต่างประเทศ ที่แปลเป็นไทย โดยผู้คนที่ทำงานอาสาสมัครให้กับ สื่อทางเลือก นี้
รวมทั้งภาพถ่าย วิดีโอคลิป ที่ทุกคนสามารถผลืตได้เอง ทำซ้ำและเผยแพร่ซ้ำได้เอง เทคโนโลยีเหล่านี้..แม้
ยังอยู่ในวงจำกัด (สำหรับประเทศไทย) แต่ก็สามารถเผยแพร่ซ้ำในรูปของ "สิ่งพิมพ์ต้นทุนต่ำ" เช่นถ่ายเอกสาร
ปริ้นต์เอ้าท์จากคอมพิวเตอร์ เขียนลงแผ่นซีดี (นี่คือเทคโนโลยีชาวบ้านในปี พ.ศ. 2550)

คนต่างจังหวัด ส่วนมากจะมีลูกหลาน ญาติพี่น้องในกรุงเทพ
และในหลากหลายชนชั้น หลากหลายสาขาอาชีพ ข้อมูลจากกรุงเทพส่งผ่านเครือข่ายครอบครัวสู่ชุมชน
ดังนั้น การที่คนไม่อ่าน มติชน เนชั่น บางกอกโพสต์ ผู้จัดการ ฯลฯ ไม่ดูข่าวโทรทัศน์ไทย ก็มิได้ทำให้ประชาชน
ขาดข้อมูลข่าวสารแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ประชาชนเหล่านี้น่าจะได้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมากกว่าด้วยซ้ำ

มิใช่แค่กรุงเทพฯเท่านั้นที่มีการชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหาร

ในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ก็มีการแจกใบปลิวต่อต้าน คมช. เช่นกัน แม้นว่าจะยังอยู่ในเขตกฎอัยการศึกก็ตาม
ซึ่งถือว่ากล้าหาญมากๆ สำหรับประชาชนมือเปล่า..ที่ออกมาประกาศชนกับทหาร ในระหว่างกฎอัยการศึก
นอกจากการต่อต้านอย่างเปิดเผยแล้ว ยังมีอาการแบบใหม่ คืออาการมึนตึง ไม่สนใจ ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ด่า
(คือไม่ด่าต่อหน้า) ไม่รับรู้รับฟังเสียงใดๆจากภาครัฐและสื่อกระแสหลัก -

นี่คืออาการของประชาชนในภาคอีสาน..ที่ไม่เป็นมิตรกับคณะรัฐประหาร
สิ่งที่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เรียกว่า "คลื่นใต้น้ำ"
ซึ่งก็คือวิธีการหนึ่งของการ "อารยะขัดขืน" นั่นเอง


ต้นเดือนกรกฎาคม 2550
นปก. ตัดสินใจเดินสายต่างจังหวัด วางแผนตั้งเวทีภาคอีสาน ภาคเหนือ โดยเลือกพื้นที่ที่ไม่มีกฎอัยการศึก
ขณะเดียวกัน ก็จัดอีกทีมหนึ่งรักษาเวทีที่สนามหลวง ซึ่งตกเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ
ที่จะยังคงมาชุมนุมกันเป็นปกติ เพื่อยึดพื้นที่เอาไว้

3 กรกฎาคม 2550
นปก. เดินทางไปตั้งเวทีที่จังหวัดยโสธร
และพบกับการขัดขวางอย่างรุนแรงจากเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย

กลไกสำคัญของระบอบอำมาตย์ก็คือ "ข้าราชการ" โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย โดยมีทหาร ตำรวจเป็นกำลัง
สนับสนุนด้านอาวุธและการยัดข้อหาให้แก่ประชาชน - การตั้งเวทีที่จังหวัดยโสธรนั้น ตั้งอยู่ในตัวเมือง ส่วนผู้มา
เข้าร่วมชุมนุม มาจากหลากหลายพื้นที่ จากอำเภอต่างๆ จากจังหวัดใกล้เคียง .. การเลือกยโสธร เพราะเป็นพื้นที่
ที่ไม่มีกฎอัยการศึกในขณะนั้น นปก. ต้องการเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย แม้จะเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหาร
แต่ก็มีผลบังคับใช้อยู่ดีในทางปฏิบัติ ดังนั้น การเลือกพื้นที่ที่ไม่มีกฎอัยการศึก การชุมนุมเกินกว่า 5 คน ก็ย่อม
กระทำได้ตามกฎหมาย

คณะรัฐประหาร คมช. ไม่สามารถสั่งห้ามการชุมนุมนั้นได้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คมช. เป็นผู้เคารพกฎหมาย แต่ทว่าการบังคับใช้อำนาจเกินขอบเขต"ในฐานะคณะรัฐประหาร"
เป็นไปได้ยาก เพราะนานาประเทศต่างจับตามองอยู่ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งเป็น
ประเทศที่ผูกพันและสนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตยในประเทศไทยมานาน..หลายทศวรรษ ก็คงไม่ค่อยมั่นใจกับ
สภาพ"ความมั่นคง"ของคณะรัฐประหารนี้เท่าใดนัก (สังเกตุจากการแทงกั๊ก ไม่เข้าข้างใดชัดเจนในตอนนั้น) และนี่
อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่การชุมนุมขับไล่ คมช. ในกรุงเทพสามารถดำเนินต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีใครสามารถ
ปราบปรามด้วยกำลังได้

เหตุการณ์เมื่อ วันที่ 3 กรกฎาคม 2550 ที่จังหวัดยโสธรก็เช่นกัน
คมช. ไม่สามารถสั่ง"ห้าม"อย่างเป็นทางการ แต่สามารถปฏิบัติการในทางลับ โดยสั่งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด
ให้ดำเนินการกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง ด้วยหวังว่าจะทำให้ประชาชนท้อถอย หวาดกลัว และไม่ออกมาร่วมกับ นปก.
คมช. สั่งทหารออกตั้งด่านสะกัดประชาชน มิให้เดินทางเข้าเมืองมาร่วมชุมนุม

นายวีระวิทย์ วิวัฒนวานิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร สั่งการให้ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
ตั้งด่านสกัดบนถนนทั่วจังหวัดยโสธร ทุกๆ 500 เมตร และปิดตายเมื่อถึงเขตอำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่จัด
การชุมนุมของประชาชน / นปก.


บางกรณี ประชาชนต้องเดินเท้าเข้ามาเป็นระยะทาง 20 - 30 กิโลเมตร

คำบอกเล่าจากผู้อยู่ในเหตุการณ์นี้เล่าว่า
"ทหาร..พร้อมอาวุธครบมือ ปิดถนน..ไม่ให้ผ่านเข้าตัวเมือง แกนนำของชาวบ้านก็ลงไปเจรจา ทหารก็ออดอ้อน
ยืนยันว่าเป็นคำสั่ง ยังไงก็ให้ผ่านไปไม่ได้ ขณะที่ยังเจรจา (ยืดเยื้อ) กันอยู่นั้น ชาวบ้านหลายร้อยคนก็ลงมาจาก
รถพร้อมกัน แล้วเดินเข้าประชิดด่านของทหาร ..คนมันมีเยอะ ก็มีแรงเบียด ..พวกที่ยืนเจรจากับทหารก็โดนเบียด
เข้าไปปะทะกับตัวทหาร ..ทหารมันก็ตกใจโวยวายว่า พี่ๆ จะทำอะไรผม เขาก็บอกว่า ใจเย็นๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่
เห็นไหมว่าคนข้างหลังเบียดเข้ามา ตอนที่ทหารยังยืนตกใจอยู่ ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจอะไรแล้ว เดินตรงมุ่งหน้าไป
บนถนน เดินเข้าเมืองไปเลย ..เมื่อมันไม่ให้รถผ่าน เขาก็เดินไป ..ทั้งที่มันอีกตั้งยี่สิบกว่ากิโลกว่าจะถึง"

ประชาชนหลายร้อยคน ทิ้งรถไว้บนถนน แล้วเดินเข้าตัวเมืองยโสธร
ด้วยระยะทางไกลขนาดนั้น กลุ่มนี้จึงมาถึงเวทีปราศรัยในช่วงกลางคืนแล้ว คำถามหนึ่งที่ฝ่ายรัฐประหารควรถาม
ตนเองก็คือ หากนี่เป็นม๊อบรับจ้าง (?) พวกเขาจะมีใจเดินเท้ายี่สิบสามสิบกิโลเชียวหรือ ข่าวกรองของทหารนั้นมี
ความเชื่อถือหรือไม่..เพียงใด หรือแท้ที่จริงแล้ว ฝ่ายทหารเองก็รู้สถานการณ์เป็นอย่างดี แต่ทว่าวิธีการโฆษณา
ชวนเชื่อผ่านสื่อมวลชน เพื่อหลอกคนกรุงเทพ (ซึ่งเป็นฐานกำลังหลักของอำมาตยาธิปไตย) ก็คงต้องดำเนินต่อ

ส่วนการปรับเปลี่ยนแผนรับมือกับ"กองทัพประชาชน" ก็เชื่อได้ว่า ฝ่ายทหาร - อำมาตย์ ได้มีการปรับเปลี่ยนแผน
หลังจากนั้น (รายละเอียดเพิ่มเติมในบทต่อไป)

ส่วนทางด้านตัวเมืองยโสธร ก็มีเหตุน่าสลดเกิดขึ้น
เนื่องจากนายวีระวิทย์ วิวัฒนวานิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ข่มขู่คุกคามร้านค้าทั้งจังหวัด ห้ามขายอาหาร
และน้ำดื่มแก่ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หากฝ่าฝืน จะถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง


คือต้องการให้ประชาชนอดข้าว อดน้ำตายกันกลางใจเมืองเลยทีเดียว
และนี่คือกระบวนคิด - วิธีการของระบอบอำมาตยาธิปไตย ในการกดขี่ประชาชนให้อยู่ในอำนาจ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่ยโสธรก็ผ่านไปได้ด้วยดีตามสภาพ มีผู้ชุมนุมกว่าหมื่นคน
เมื่อปิดถนนไม่ให้รถผ่าน คนก็ลงเดิน เมื่อไม่ขายข้าวขายน้ำ พวกเขาก็ไม่กินไม่ดื่ม
ฝนตกก็ยืนตากฝน แดดออกก็ยืนตากแดด ..แต่อำมาตย์ต้องการให้พวกเขาทำอะไร พวกเขาก็จะไม่ทำ ..
และนี่คือ "อารยะขัดขืน" ของแท้

ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม นปก. เดินทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์
มีประชาชนร่วม 20,000 คน จากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร เดินทางเข้ามา
ร่วมสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในกาฬสินธุ์ เพื่อฟังการปราศรัยของนายจักรภพ เพ็ญแข - นพ.เหวง โตจิรการ แกนนำ
นปก. - แม้ต้องพบกับอุปสรรคความยุ่งยาก เพราะว่า พล.ต.ต.พิสัณห์อาวีกร วรเทพนิตินันท์ ผบก.ภ. จว.กาฬสินธุ์
ได้สั่งให้สถานีตำรวจทุกอำเภอตั้งด่านตรวจสกัดตามถนนสายต่าง โดยเฉพาะคนนอกพื้นที่ และใช้รถยนต์ที่ไม่ใช่
ทะเบียนจังหวัดกาฬสินธุ์ จะถูกตรวจค้นอย่างละเอียด มีการตรวจสอบบัตรประชาชนทุกคนอย่างเข้มงวด..

ครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม นปก. เดินสายไปหลายจังหวัด ทั้งยโสธร กาฬสินธุ์ สกลนคร ลำพูน (11 กรกฎาคม)
นอกจากนั้น ในวันที่ 15 กรกฎาคม สมบัติ บุญงามอนงค์ - กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น กรรมาชน) ยังพาทีมย่อย
ไปรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงหน้ากองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ..เหยียบถึงถิ่น คมช.

03
รัฏฐาธิปัตย์ ..
การกลั่นแกล้ง คุกคามจากคณะรัฐประหารและการตอบโต้ของ นปก
.

นับแต่การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 การกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหารก็ดำเนินเรื่อยมา
และไม่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิทธิมนุษยชน และ/หรือ สื่อมวลชนในประเทศ เหตุผลหลักก็คือคนในองค์กร
เหล่านี้ เป็นชนชั้นปฏิกิริยาในกรุงเทพ..ผู้ซึ่งสนับสนุนการรัฐประหาร และสนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตย ดังนั้น
การต่อสู้กับรัฐประหารครั้งนี้ จึงเป็นภารกิจของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยลำพังประชาชนอย่างแท้จริง ดังจะ
เห็นการต่อสู้แบบอารยะขัดขืนของพี่น้องภาคอีสาน ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น การออกถนนมาแจกใบปลิวต่อต้าน คมช.
ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยประชาชนในภูมิภาคนั้นเอง ทั้งที่ยังอยู่ใต้กฎอัยการศึก
คนเหล่านี้ถูกจับกุมคุมขังไปหลายคน

ทางฝ่าย "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" (นปก.) ก็ถูกคุกคาม..ไม่ต่างไปจากประชาชนทั่วไปเหล่านี้

ก่อนอื่น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ
ในฐานะคณะรัฐประหาร คมช. ถือว่ามีอำนาจสูงสุดในด้านกำลังทหาร และการบริหารราชการแผ่นดินทางปฏิบัติ
แม้จะเป็น "การปล้นอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน" แต่ก็ถือว่าพวกเขาได้ "ปล้นสำเร็จ" ในระดับหนึ่ง และถือ
ครองอำนาจนั้นไว้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้นเมื่อมีประชาชนยื่นฟ้องต่อศาล ว่าการกระทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มิชอบด้วยกฎหมาย
ขัดต่อกฎหมายอาญา มาตรา 113 และมีความผิดเป็นกบฏ เป็นโจร และมีโทษถึงประหารชีวิต
แต่ศาลก็มิยอมประทับรับฟ้อง ด้วยอ้างว่าคณะรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจแล้วจึงมี "รัฏฐาธิปัตย์" ที่จะทำอะไร
ก็ได้ตามใจชอบ (?) ซึ่งคณะรัฐประหารนั้นก็ใช้อำนาจของตนอย่างเต็มที่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะ
กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่ตามกฎหมายต้อง
ผ่านการโปรดเกล้าฯจากพระมหากษัตริย์ แต่ คมช. ก็ยังสามารถใช้"พระราชอำนาจ"ของพระมหากษัตริย์ได้ด้วย
ตนเอง แม้จะเป็นการข้ามขั้นตอน..ราวกับบ้านเมืองไม่มีกฎหมายใดๆ นอกจากอำนาจของคณะรัฐประหารเท่านั้น

ด้วยอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน แม้ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมแต่ก็มีกำลังอาวุธที่ใช้ขู่บังคับ

ถึงกระนั้นก็ตาม คมช. ก็ไม่สามารถปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านได้อย่างเด็ดขาด ส่วนหนึ่งมองกันว่า
กองทัพไทยเองก็ขาดความเป็นปึกแผ่น และมีบางส่วนที่ไม่เห็นชอบกับคณะรัฐประหาร บางส่วนก็หวังช่วงชิง
อำนาจจาก คมช. บางส่วนเฝ้ารอสถานการณ์รุนแรงที่ คมช. ควบคุมไม่ได้ เพื่อทำรัฐประหาร ชิงอำนาจจาก คมช.
แล้วยังมีแรงกดดันจากนานาประเทศ ถ้าหากเกิดการปราบปรามรุนแรงและปะทะด้วยกำลังภายในประเทศแล้ว
ก็อาจลุกลาม จนทำให้ต่างประเทศถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะ "ความเป็นคณะรัฐประหาร" ไม่เป็นที่
ยอมรับของนานาประเทศอยู่แล้ว

ดังนั้น อำนาจที่ล้นฟ้าล้นแผ่นดินของ คมช. จึงมีข้อจำกัดในการปฏิบัติอยู่มากทีเดียว
โดยเฉพาะการใช้กำลังรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง (นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยต้อง
หันมาใช้วิธีเชิดรัฐบาลหุ่นขึ้นมาในปี 2552)

และด้วยข้อจำกัดของ คมช. นี้จึงเปิดช่องว่างให้ประชาชนฝ่ายต่อต้านสามารถเคลื่อนไหวได้ แม้ไม่มีอิสระเต็มที่
แต่ก็ยังสามารถพลิกแพลงและเคลื่อนไหวไปได้เรื่อยๆ สิ่งที่ คมช. สามารถทำได้ (ด้วยข้อจำกัด) คือการข่มขู่
กลั่นแกล้ง หรือคุกคามในทางลับ

ในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม 2550 ของการต่อสู้ในนาม "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" (นปก.)
มีการตอบโต้กันไปมาระหว่างประชาชน - คณะรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง

ในครั้งหนึ่งนั้น สมบัติ บุญงามอนงค์ เดินทางไปราศรัยที่จังหวัดเชียงราย อันเป็นพื้นที่กฏอัยการศึก และถูกทหาร
จับตัวไปคุมขังไว้ในค่าย เมื่อ นปก. ทางกรุงเทพฯทราบข่าว จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ..

นปก. ส่วนหนึ่ง นำโดยนายแพทย์เหวง โตจิราการ พาคณะ (ไม่กี่คน) ไปประท้วงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก
ถนนราชดำเนิน ..ทหารปิดประตู ไม่ยอมให้เข้า และในช่วงเวลานั้นเอง สุชาติ นาคบางไทร (หรือ วราวุธ ฐานังกรณ์)
หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ ได้ขับรถยนต์เก่าๆของเขาไปที่ประตูกองทัพบก และสั่งให้ทหารเปิดประตูทันที
ด้วยคำสั่งเฉียบขาด จึงทำให้ทหารที่เฝ้าประตูเกิดความงุนงง และเข้าใจผิดว่าสุชาติ นาคบางไทร เป็นผู้บังคับบัญชา
จึงเปิดประตูให้ ..เมื่อ สุชาติ นาคบางไทร (หรือ วราวุธ ฐานังกรณ์) ขับรถเข้าไปได้แล้ว เขาก็หยิบโทรโข่งตัวเล็ก
ขึ้นมา ปีนขึ้นหลังคารถ และปราศรัยโจมตี คมช. แล้วเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวนายสมบัติในทันที ..
เมื่อยืนปราศรัยได้ไม่กี่นาที เขาก็ถูกทหารลากลงจากรถ และนำตัวไปยังสถานีตำรวจนางเลิ้ง เพื่อแจ้งความใน
ข้อหาบุกรุก ..ในขณะที่สุชาติก็แจ้งความกลับในข้อหาทหารทำร้ายร่างกาย

จากโรงพัก ตำรวจก็ส่งสุชาติ นาคบางไทรไปเช็คร่างกายที่โรงพยาบาล ระหว่างกลับจากโรงพยาบาลนั้นเอง ก็มี
บุคคลคล้ายทหารขี่มอเตอร์ไซค์ตาม แล้วขว้างก้อนหินใส่รถของเขา .. สุชาติ นาคบางไทร เป็นคนบ้าดีเดือด
เขาขับรถไล่กวดมอเตอร์ไซค์คันนั้นไปเป็นระยะทางหลายกิโล จนมอเตอร์ไซค์หนีเข้าไปในค่ายทหาร ..
สุชาติก็กลับมาขึ้นเวทีที่ท้องสนามหลวง

หลังจากนั้น ทหารก็ยอมปล่อยสมบัติ บุญงามอนงค์เป็นอิสระ..

อีกเหตุการณ์หนึ่ง
เนื่องด้วย นปก. มีการชุมนุมต่อเนื่องกันทุกวันและด้วยระบบรักษาความปลอดภัย แกนนำจึงต้องมีเซฟเฮ้าส์
สำหรับหลับนอนและทำงานร่วมกัน ..
คืนหนึ่ง ระหว่างการกลับจากเวทีสนามหลวง ฝ่ายรักษาความปลอดภัยพบว่ามีรถขับสะกดรอยตามรถของแกนนำ
พวกเขาจึงขับรถขึ้นไปปาดหน้า และสกัดจับรถต้องสงสัยคันดังกล่าว ชายสองคนในรถคันนั้น ถูกเบียดลงข้างทาง
แล้ววิ่งหนีไปได้หนึ่ง แต่ถูกตามจับได้ในที่สุด อีกคนโดนจับตัวได้ที่รถ .. หน่วยรักษาความปลอดภัยนำตัวชายทั้ง
สองไปส่งที่สถานีตำรวจวังทองหลาง มีการพบอาวุธปืน 9 มม. บรรจุกระสุน ชายสองคนอ้างว่าเป็นตำรวจสันติบาล
ถูกส่งมาดูแลแกนนำ (แน่นอนว่าไม่มีใครเชื่อ) อย่างไรก็ตาม เมื่อชายทั้งสองถูกจับส่งตำรวจแล้ว ก็หมดหน้าที่ของ
ฝ่ายรักษาความปลอดภัย และเรื่องก็เงียบไปในที่สุด

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ผู้ช่วยของจักรภพ เพ็ญแข ถูกลักพาตัว
หลังจากที่ผู้ช่วยคนนั้นขับรถไปส่งจักรภพที่เซฟเฮ้าส์แล้ว เขาก็ขับรถคันเดิมกลับบ้าน ระหว่างที่จอดรถลงไปซื้อ
ของที่เซเว่น อีเลฟเว่น ตรงข้ามกับห้างพาต้า ปิ่นเกล้า ซึ่งบริเวณนั้นเป็นป้ายรถเมล์ และมีผู้คนหนาแน่นตลอดคืน
ผู้ช่วยคนนั้น ถูกกลุ่มคนจี้ด้วยอาวุธ ผูกตา และพาขึ้นรถไปกักขังยังสถานที่แห่งหนึ่ง ผู้ลักพาตัวได้ (จงใจ ?) ทิ้ง
โทรศัพท์มือถือเอาไว้ในห้องด้วย เพื่อให้ผู้ช่วยคนนั้นโทรกลับมาหาจักรภพ ซึ่งประเมินว่าน่าจะเป็นเพียงการข่มขู่
แกนนำ..มากกว่าจะเป็นเจตนาทำร้ายกันจริง อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยคนนั้น..กลับบอกจักรภพว่าไม่ต้องเป็นห่วง และ
เขาจะหาทางคิดช่วยตัวเอง ในวันต่อมา ผู้ลักพาตัวได้พาผู้ช่วยของจักรภพมาปล่อยไว้แถวบางบัวทอง

การข่มขู่เล็กๆน้อยๆดำเนินไปตลอดระยะเวลา แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับขบวนการต่อต้านรัฐประหาร ในขณะเดียว
กัน ประชาชนบนท้องสนามหลวงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกคืน แม้จะมีฝนตกหนักตลอดเวลา แต่ผู้คนก็เริ่มชาชินกับสภาพ
ดินฟ้าอากาศ และไม่เป็นอุปสรรคใดๆ

04
การเกิดของสีแดง


การเริ่มต้นของ"คนเสื้อแดง" หรือ Red Shirts แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา
คือ วันที่แนวคิดนี้เกิดขึ้นและขยายตัว และ วันที่เริ่มอย่างเป็นทางการ

"คนเสื้อแดง" นั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2551 ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรค
ของฝ่าย นปก. ได้เป็นรัฐบาล และกำลังเผชิญกับการรุกคืบครั้งใหม่ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย การรุกไล่ก่อกวน
จากกลุ่มพันธมิตรฯ เครื่องมือบนท้องถนนของฝ่ายอำมาตย์ การยึดทำเนียบรัฐบาล การใช้สื่อมวลชนกระแสหลัก
โจมตีใส่ร้ายประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้กลายเป็นจุดกำเนิดของ "คนเสื้อแดง" ในแบบที่เรารู้จักกันใน
ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สีแดงเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นร่วมปี และเกิดที่ท้องสนามหลวง

ระหว่างการชุมนุม นปก. ที่สนามหลวง และการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ของคณะรัฐประหาร ผู้คนยังคงใส่
เสื้อผ้าหลากสี ตามปกติชีวิตประจำวัน ไม่มีสัญลักษณ์ใดเป็นเฉพาะ นอกจากผ้าคาดหัวสีเหลืองที่มีตัวหนังสือแดง
เขียนว่า "คมช. ออกไป" และผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงใส่เสื้อเหลือง ซึ่งเป็นการใส่ต่อเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลของ
ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้จุดกระแสใส่เสื้อเหลืองในยุคนั้น แม้แต่การเดินขบวนไปบ้านสี่เสา เมื่อวันที่ 22
กรกฎาคม 2550 .. แกนนำ นปก. ก็ยังเรียกร้องให้ประชาชนใส่เสื้อเหลืองไปในวันนั้น ..

ต้องเข้าใจก่อนว่า เสื้อเหลือง ในปี 2550 ก็ยังไม่ใช่สัญลักษณ์ผูกขาดของกลุ่มพันธมิตรฯ
แต่เป็นสีเสื้อของประชาชนทั่วไปที่นิยมเจ้า และผู้นิยมเจ้าก็มีอยู่ทั้งในกลุ่มพันธมิตรฯ และ นปก. ดังนั้นการใส่เสื้อ
สีเหลืองจึงเป็นเรื่องปกติ และอีกประการหนึ่ง ในยุครัฐบาล ดร. ทักษิณ ชินวัตร เขาได้ปลุกกระแสเสื้อเหลือง เพื่อ
แสดงอาการจงรักภักดี จนบริษัทห้างร้าน หน่วยราชการต่างบังคับให้ลูกจ้าง พนักงานต้องใส่เสื้อเหลืองไปทำงาน..
ข้าราชการ พนักงานบริษัทจึงต้องมีเสื้อเหลืองไว้สวมใส่เป็นจำนวนมาก แม้เมื่อหลังรัฐประหาร ผู้คนก็ยังใส่เสื้อเหลือง
กันอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นปกติ..ในปี 2550

ในมุมองของสังคมที่ไม่ใช่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย
สีเหลืองเพิ่งกลายเป็นสีผูกขาดของพันธมิตรฯ ก็เมื่อครั้งยกพวกมายึดทำเนียบรัฐบาลในปี 2551

ระหว่างที่ นปก. เริ่มการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550
ฝ่ายประชาธิปไตย และ นปก. ยังไม่มีสัญลักษณ์อะไรชัดเจน ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯมักจะอ้างอิงสีเหลืองอยู่
บ่อยครั้ง และมักเสียดสี นปก. ว่าทำเลียนแบบพันธมิตรฯอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบของการเดินขบวน หรือ
การจัดมวลชนนั้น เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ที่คนส่วนมากก็ใช้กันทั้งโลก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่รูปแบบหลายๆอย่างจะ
ดูคล้ายคลึงกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นปก. เองก็ไม่มี หรือไม่ได้คิดค้นสัญลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา แม้จะมีดีไซน์
เสื้อ"คนรักทักษิณ ไม่เอาเผด็จการ" แต่นั่นก็เป็นเรื่องของชมรมชมรมหนึ่ง และยังไม่ได้บ่งบอกถึงอุดมการณ์ร่วม
อันแท้จริงของขบวนการ - สัญลักษณ์ในเชิง visual concept จะต้องเป็นอะไรที่เป็นนามธรรม และใช้ร่วมกันได้
ในกลุ่มมวลชนที่ "หลากหลาย" และ "ต่างความคิดใในรายละเอียด"

มีสมาชิกคนหนึ่งในเว็บบอร์ดประชาไท เสนอว่าการต่อสู้ครั้งนี้ ฝ่ายประชาธิปไตย และ นปก. ยังไม่มีสัญลักษณ์
อะไรชัดเจน เขาเสนอเรื่องของการใช้สี - ต่อมา สมบัติ บุญงามอนงค์ เลือกใช้ "สีแดง" เป็นสัญลักษณ์ในการ
คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550
และ นปก. ทั้งหมดก็รับความคิดนี้มาใช้ ..

เสื้อแดงรุ่นแรกๆ เป็นเสื้อที่มีข้อความเ่ช่น "ไม่รับ" "ล้มร่างรัฐธรรมนูญ 2550" เป็นต้น
ช่วงเดือนกรกฎาคม เริ่มมีเสื้อแดงให้เห็นบ้างประปราย ส่วนมากจะเป็นทีมของฝ่ายปฏิบติการ
สีแดงใช้กันในกลุ่มเฉพาะ แต่ยังไม่ได้แพร่หลายมากนักในกลุ่ม นปก. ด้วยกัน มีฝ่ายประชาธิปไตยที่เชียงใหม่
เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ใช้สีแดง-เสื้อแดงกันอย่างกว้างขวาง..มากกว่าที่อื่นๆ อาจจะเรียกได้ว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก
ที่มีคนเสื้อแดงมากที่สุดในปี 2550 - ส่วนในกรุงเทพฯ ก็มีเพียงวันที่ 15 สิงหาคม ที่มีการปราศรัยคัดค้านร่าง
รัฐธรรมนูญที่ท้องสนามหลวง ที่มีคนใส่เสื้อแดงมารวมกันเป็นจำนวนมาก (เต็มครึ่งสนามหลวง) นับเป็นครั้งแรก
ในกรุงเทพฯที่มีคนใช้สัญลักษณ์สีแดงร่วมกัน (พร้อมกัน) หลายหมื่นคน

หลังจากนั้น เสื้อแดงที่มาจากการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็ยังมีคนสวมใส่อยู่เรื่อยๆ ..ไม่มากนัก
แต่การใช้ "สีแดง" เริ่มแพร่กระจายสู่งานออกแบบอื่นๆของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย และเริ่มเป็นสัญลักษณ์
ร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย จนกระทั่งกลุ่มพันธมิตรฯเสื้อเหลือง ออกมายึดสะพานมัฆวานฯ และยึดทำเนียบรัฐบาล
ในเวลาต่อมา (ปี 2551) เหตุการณ์นี้ ทำให้มีการออกแบบ"เสื้อแดง"รุ่นใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก (ตอนนั้นยัง
ไม่มีเสื้อแดงความจริงวันนี้เกิดขึ้น) แบบเสื้อแดงในเวลานั้นมักมีคำว่า "นปช." หรือ "ปราบกบฏ"

ช่วงเวลาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ "สีแดง" แต่ยังไม่ได้เป็น "คนเสื้อแดง"

05
นปก. ปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้


นปก. เคลื่อนไหวมาจนถึงปลายสิงหาคม

หลัง"ปาหี่ประชามติ"เมื่อ 19 สิงหาคม 2550
แม้ด้วยสรรพกำลังทุกอย่างของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ผ่านออกมาได้อย่างเฉียดฉิว
และเป็นที่น่าสงสัย -- อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ของฝ่ายประชาธิปไตยคือ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ได้มีการ
ตอบปฏิเสธรัฐธรรมนูญอำมาตย์กันอย่างชัดเจน ด้วยคะแนนเสียง 80 % ขึ้นไปโดยเฉลี่ยเกือบทุกพื้นที่ ยิ่งใน
พื้นที่ที่ นปก. เข้าไปตั้งเวทีได้นั้น เปอร์เซ็นต์การปฏิเสธ คมช. ก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

เมื่อรัฐธรรมนูญ คมช. ผ่านออกมาแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องมีการเลือกตั้งในเร็ววัน
นปก. จึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ยกเลิกเวทีสนามหลวง และเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชน

พรรคพลังประชาชนก็ไม่ใช่ นปก. ทั้งหมด
แต่ทว่ากลุ่มผู้ร่วมชุมนุม นปก. และกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร มีบทบาทต่อทิศทางของพรรคอย่างมากพอสมควร
ในขณะที่กลุ่มนักการเมืองเดิมจากพรรคไทยรักไทย ก็พยายามจะเพิ่มบทบาทของตนในพรรคเช่นกัน อย่างเช่น
กลุ่มของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์และ สส. กรุงเทพเดิมจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เคยเปิดหน้าออกมาช่วย
เหลือในการต่อต้านรัฐประหาร (ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังรัฐประหาร) แล้วยังมีกลุ่มเนวิน ชิดชอบ ซึ่งคุมพื้นที่ทาง
แถบอีสานใต้ กลุ่มนี้มีบทบาทในการต่อต้าน คมช. อยู่ไม่น้อย (แม้ภายหลังจะหันไปร่วมมือกับอำมาตย์ในปี 51)
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มต่างๆอีกหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นธรรมชาติของพรรคการเมือง..คือเป็นที่รวมของผู้คนหลากหลาย
ดังนั้น สิ่งที่จะขับเคลื่อนพรรคไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็คือแนวความคิดทางการเมือง หรือ"อุดมการณ์"นั่นเอง
หากพรรคการเมืองปราศจากอุดมการณ์ สิ่งที่เหลือก็มีแค่"ผลประโยชน์"

และ "ผลประโยชน์ส่วนตัว" นั้นย่อมไม่สามารถแบ่งกันได้ทั่วถึง แล้วยังไม่มีประโยชน์อันใดกับประชาชน
การจะรักษาพรรคการเมืองให้ดำรงอยู่ได้ พรรคก็ต้องมีอุดมการณ์ การที่พรรคจะมีอุดมการณ์ได้..หรือรักษา
อุดมการณ์นั้นไว้ ก็ต้องมี "ประชาชน" ในฐานะเจ้าของพรรคการเมือง เข้ามาสอดส่อง เข้ามาเกี่ยวข้อง รับรู้ทุกสิ่ง
ที่ดำเนินไปในพรรค - และนั่นคือสิ่งที่ "ผู้ร่วมชุมนุม นปก." ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีจากการชุมนุมประท้วง ไปสู่การมี
ส่วนร่วมในพรรคการเมืองของตนเอง

"พรรคพลังประชาชน" เป็นทางเลือกที่เหมาะสมขณะนั้น เพราะเป็นพรรคที่สานต่อนโยบายจากพรรคไทยรักไทย

ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเอง ก็ต้องการการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550
เพราะพวกเขาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยของพวกเขาอย่างเต็มที่
การยึดครองอำนาจในฐานะคณะรัฐประหารนั้น พวกเขาจะรักษาอำนาจไว้ได้ไม่นานและอาจนำสู่การล่มสลายไปทั้ง
ระบอบเลยก็ได้ ..ดังนั้น การมีรัฐบาลหุ่นเชิดที่มาจาก"ปาหี่ประชาธิปไตย"จะสามารถรักษาระบอบอำมาตยาธิปไตย
ไว้ได้อีกนานหลายทศวรรษ และอ้างอิงจาก เอกสารลับของ คมช. ดูเหมือนว่าฝ่ายอำมาตย์ได้วางแผน มั่นใจในแผน
ของพวกเขา ว่าการเลือกตั้ง"ปาหี่ประชาธิปไตย"ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วม
ของฝ่ายอำมาตย์สามารถครองเสียงข้างมากในสภา แล้วจัดตั้งรัฐบาลได้ จากนั้นก็ยังมีวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดย คมช.
คอยเป็นกองหนุนอยู่ในรัฐสภา นานาประเทศก็ไม่สามารถตำหนิติเตียนรัฐบาลอำมาตย์ชุดดังกล่าวได้ เพราะมาจาก
การเลือกตั้ง

ซึ่งแน่นอนว่า นานาประเทศย่อมไม่สนใจความแตกต่างระหว่าง
"การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย" กับ "ปาหี่ประชาธิปไตยภายใต้กติกาอำมาตยาธิปไตย"

ความเชื่อหลักของระบอบอำมาตยาธิปไตยก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่โง่เง่า ไม่มีพลัง เห็นแก่เงินทองเล็กน้อย หูเบา
หลอกให้เชื่อได้ง่ายด้วยคำโฆษณาโง่ๆ ขี้ขลาดตาขาว เอาแต่ได้ ขี้บ่นขี้งอแงแต่ไม่คิดจะลงมือทำอะไรด้วยตนเอง
งมงาย ขี้เกียจ ไม่ชอบลำบาก หรือพูดให้สั้นเข้าไว้ก็คือ พวกเขามองประชาชนเป็นสัตว์เลี้ยงชั้นต่ำ ที่ต้องมีเจ้านาย
คอยเลี้ยงดู และต้องมีการตบตีกันบ้างเพื่อสั่งสอนให้หลาบจำ -

ลักษณะดังกล่าวอาจตรงกับนิสัยของพวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ -
หรือ พวกชนชั้นกลางในต่างจังหวัดที่ปรารถนาจะเป็นเหมือนคนกรุงเทพฯ แต่คงไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด
แต่เมื่อชนชั้นสูงในระบอบอำมาตยาธิปไตย มีความเชื่อว่าประชาชนในประเทศเป็นเช่นนั้น แผนรักษาอำนาจของ
พวกเขาจึงยืนอยู่บนสมมุติฐานเช่นนั้น - และนี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่ของชนชั้นอำมาตยาธิปไตย

ในขณะนั้น ฝ่ายอำมาตย์เชื่อมั่นว่าอำนาจและกลไกของรัฐ จะสามารถทำให้พรรคการเมืองอำมาตย์ชนะการเลือกตั้ง
ในขณะนั้น ฝ่ายอำมาตย์เชื่อมั่นว่าตนเองกำลังสู้กับ ดร. ทักษิณ ชินวัตรและลูกจ้างของเขาเพียงลำพัง

ในขณะนั้น ฝ่ายอำมาตย์ ดูเหมือนมองข้ามไปว่า ยังมี "ประชาชน" จำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการอำมาตยาธิปไตย
และประชาชนเหล่านั้นได้ก้าวเข้ามาในสนาม ขยายเครือข่ายเพื่อโค่นอำมาตยาธิปไตยกันแล้ว

สำหรับคนที่เข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐประหารในช่วงปี 2549 - 2550
จะเข้าใจสถานการณ์ในมิติที่แตกต่าง พวกเขารู้ดีว่าประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือ ภาคอีสานนั้น
ไปไกลเกินกว่าคนกรุงเทพมากมายนัก ประชาชนเหนือ อีสานมีความตื่นตัวทางการเมือง มีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
และสนใจในข้อมูลข่าวสารทางการเมืองมากมายกว่าคนกรุงเทพ ..ขณะเดียวกัน สื่อใต้ดิน หรือสื่อทางเลือก ได้เข้ามา
มีบทบาทแทนสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่ไม่เอาคณะรัฐประหาร

สำหรับคนที่เข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐประหารในช่วงปี 2549 - 2550
จะเข้าใจดีว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยกำลังเผชิญหน้าเป็นศัตรูกับประชาชน..ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น การต่อสู้ / ความเคลื่อนไหวขั้นต่อไปของ นปก. จึงขยายขอบเขตออกไปเกินกว่าสนามหลวง
นปก. ประกาศยุติเวทีสนามหลวงในคืนวันที่ 19 สิงหาคม 2550
และเตรียมเข้าเป็นแนวร่วมสนับสนุน "พรรคพลังประชาชน" ในสนามเลือกตั้งเดือนธันวาคม ขณะเดียวกันก็เตรียม
ขยายแนวร่วมออกสู่ต่างจังหวัด ยกระดับขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวเครือข่ายระดับชาติ อันเป็นที่มาของ นปช. หรือ
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (NUDD)


2549 - 2551 ลำดับความขัดแย้ง - แตกแยก - แตกหัก !!
บางมุมมองในยุครัฐบาลดร. ทักษิณ มาถึงการรัฐประหาร
เรื่องของชนชั้นอำมาตย์ ระบอบอำมาตยาธิปไตย ชนชั้นปฏิกิริยา
การขยาย"ความขัดแย้งรอง" จนกลายเป็น "ความขัดแย้งหลัก"
การลงประชามติ การเลือกตั้ง (2550) พรรคพลังประชาชน นปช.
กลุ่มพันธมิตรฯ ตุลาการรัฐประหาร การเกิดของคนเสื้อแดง.