Sunday, January 31, 2010

เดินขบวนไล่ คมช. 9 มิถุนายน 2550 (UDD June 9, 2007)

edited from original news article by Thai E-NEWS /
information - details in part from Prachatai News / reported from the scene by SIAM Freedom Fight
ต้นฉบับเดิมบางส่วน - รายงานสถานการณ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 มาจากข่าวประชาไท
เผยแพร่ซ้ำในเว็บข่าว Thai E-NEWS รายงานเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ โดย SIAM Freedom Fight / เรียบเรียงใหม่


วันที่ 9 มิถุนายน 2550 : เวลา 13.00 น. ที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) นัดประชุมเพื่อวางแผนการขับไล่ คมช. โดยมีแกนนำและ
นักการเมืองเข้าร่วมประมาณ 100 คน เช่น นพ. ทศพร เสรีรักษ์ นายประสพ บุษราคัม นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
อดีต ส.ส.ไทยรักไทย นายชินพร ศรียากูล รอง ผอ.กลุ่มมัชฌิมา นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำพีทีวี
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชน นายสุวิทย์ หาทอง แกนนำกลุ่มแรงงาน นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ
จากสหภาพครูแห่งชาติ นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วม เช่น ดร.สุทธาชัย ยิ้มประเสริฐ
อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการเข้าประชุมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังแต่อย่างใด

ที่ประชุม นปก. มีมติตั้งแกนนำ 7 คน โดยมีอาจารย์ มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ เป็นประธาน

หลังการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง นพ.เหวง โตจิราการ ให้สัมภาษณ์ว่า มติที่ประชุมให้มีการตั้งแกนนำ
ทั้งหมด 7 คน คือ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เป็นประธาน นปก.
นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำพีทีวี นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย โฆษกกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นพ.เหวง โตจิราการ จากสมาพันธ์ประชาธิปไตย นายชินวัฒน์ หาบุญพาด
เจ้าของสถานีวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ และนายชูพงษ์ ถี่ถ้วน เจ้าของสถานีวิทยุชุมชน 87.75

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของ นปก.จะอยู่ภายใต้การตัดสินใจของกรรมการทั้ง 7 คน
นอกเหนือไปจากเวทีท้องสนามหลวงแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์ทางการเมือง อาทิ วันที่ 11 มิถุนายน
จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อเผา รธน.ฉบับเผด็จการ และแสดงละครล้อเลียน วันที่ 17 มิถุนายน จะมีการจัดเสวนา
เพื่อแสดงออกถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นต้น

ต่อมาที่ท้องสนามหลวง
บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่ม"แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" หรือ นปก. ที่ต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 8
ยิ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมมากขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่เวลา 17.30 น. กลุ่ม นปก.ย้ายเวทีการปราศรัยจากสนามหลวงทิศใต้
ไปตั้งติดกับถนนเส้นกลางท้องสนามหลวง หันหลังเวทีให้วัดพระแก้ว เปิดพื้นที่การชุมนุมให้สามารถจุประชาชน
ได้มากขึ้น สำหรับการรักษาความปลอดภัยรอบพื้นที่ชุมนุมเข้มข้นเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมกำลังเพิ่ม
รับมือการเคลื่อนขบวนของมวลชนถึง 3 กองร้อย หรือ 450 คน โดยกระจาย กำลังตรวจตราประตูทางเข้า ป้องกัน
การนำอาวุธเข้ามาในบริเวณ นอกจากนี้ ยังมีการนำรถตัดสัญญาณโทรศัพท์มาจอดไว้ ป้องกันการจุดระเบิดด้วย
โทรศัพท์มือถือด้วย ขณะเดียวกัน ที่ด้านหลังเวที ซึ่งเดิมเคยเป็นที่รวมตัวกันของกลุ่มอดีต ส.ส.ไทยรักไทยนั้น
มี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ ภาคกลาง มาอยู่ที่หลังเวทีในช่วงเย็น

ทั้งนี้ เหล่าแกนนำ นปก.ได้ขึ้นเวทีกล่าวโจมตี คมช.กันเร็วกว่าปกติ
เพื่อเตรียมขอมติประชาชนเคลื่อนขบวนไปที่หน้ากองทัพบก ในเวลา 20.00 น.

ส่วนบรรยากาศการปราศรัย ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีประชาชนทยอยเดินทางเข้ามาร่วม
ชุมนุม เปล่งเสียงตะโกนขับไล่ คมช.ดังลั่นท้องสนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลรายงานจำนวนยอดผู้ชุมนุม
ช่วงค่ำอยู่ที่ประมาณ 5 พันคน ส่วนใหญ่ผู้ที่มาร่วมนั้นจะมาเป็นกลุ่ม รอประกาศเคลื่อนขบวนไปหน้ากองทัพบก
ส่วนทีมงานของนปก.ได้เตรียมรถบรรทุก 6 ล้อ ติดเครื่องกระจายเสียง เพื่อนำหน้าการเคลื่อนขบวน เตรียมไว้
จำนวน 2 คัน นอกจากนี้ ยังนำรถกระบะติดเครื่องปั่นไฟเตรียมไว้อีก 1 คันด้วย

ปรากฏการณ์ ณ. สนามหลวง หลังจากสองทุ่มไปแล้ว ได้มีประชาชนทยอยตามมาสบทบอีกมากมาย
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ร่วมชุมนุมเป็นคนกรุงเทพ และต้องจัดการภารกิจส่วนตัวประจำวันให้เรียบร้อย
ก่อนที่จะออกจากบ้านมาร่วมที่สนามหลวงได้ และยังต้องตื่นเช้าไปทำงานอีกด้วย ทำให้ธรรมชาติของ
การชุมนุม นปก. เป็น "มวลชนกลางคืน" เสียมากกว่า - นั่นคือจะมีผู้คนมาร่วมมากที่สุดในช่วงเวลาสองทุ่ม
ถึงเที่ยงคืน และไม่ค่อยสำคัญว่าก่อนหน้านั้นจะมีผู้คนมากน้อยแค่ไหน หากจะนับจำนวนผู้ชุมนุมที่จริงจัง
และมีส่วนร่วมแท้จริง ต้องนับหลังสองทุ่ม
ลักษณะเฉพาะนี้ยังคงอยู่ สืบทอดมาจนถึงการชุมนุมของ "คนเสื้อแดงในกรุงเทพ" ในปี พ.ศ. 2552


จำนวนคนที่เดินขบวนไปกองทัพบกในคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 ประมาณอยู่ที่สามหมื่นคน โดยประเมินจากการ
เดินเบียดกันเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนิน หัวขบวนอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่ท้ายขบวนยังไม่พ้นจากบริเวณ
ท้องสนามหลวง

เวลา 20.30 น.
แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ทั้ง 7 คน ได้หารือกันบริเวณด้านหลังเวทีปราศรัย โดยมีข้อตกลง
เป็นทางการว่า จะนำประชาชนเคลื่อนขบวนไปยังที่หน้ากองทัพบก ทั้งนี้ นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำกล่าวว่า
เหตุผลที่ต้องการเคลื่อนขบวนในครั้งนี้ เพราะสถานการณ์เริ่มสุกงอมแล้ว และดูจากปฏิกิริยาของประชาชนที่มาร่วม
ชุมนุม - นปก.จึงพร้อมที่จะเคลื่อนขบวน โดยจะมีรถกระจายเสียง 4 คัน เป็นตัวหลักในการควบคุมประชาชน ทั้งจะ
ใช้หลัก 3 ประการ คือ ไม่โกรธ - ไม่ตอบโต้ - ไม่ใช้ความรุนแรง
ซึ่งก่อนที่จะเดินขบวนนั้น มีการชวนประชาชนประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันก่อน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ และเพื่อ
ป้องกันเหตุความรุนแรง ทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนเอง

เวลา 21.00 น. แกนนำ นปก. ขึ้นเวทีปราศรัยอีกครั้ง
วีระ มุสิกพงศ์ ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืนของ นปก.ที่จะขับไล่ คมช. และผลผลิตทั้งหมดของเผด็จการ ขณะที่
มานิตย์ จิตจันทร์กลับ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา หนึ่งในแกนนำ ระบุว่า การรัฐประหารในอดีตไม่เคย
มีครั้งไหนที่มีคณะตุลาการไปให้การสนับสนุนเท่าครั้งนี้ ทั้งที่ในตำราก็ไม่เคยบอกว่าให้เรียนจบมารับใช้เผด็จการ
เพราะฉะนั้น ตุลาการที่รับใช้ คมช. ไม่ได้ เพียงแค่จะต้องปลด แต่จะต้องถูกดำเนินคดี

จักรภพ เพ็ญแข ได้ขึ้นเวทีปราศรัยตอกย้ำว่า การรัฐประหารที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง - จักรภพยังกล่าวด้วยว่า
"วันนี้เป็นวันครบรอบสวรรคตของรัชการที่ 8 ซึ่งในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนในการ
ใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดี พนมยงค์ และในการรัฐประหารครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ประโยชน์
จึงอยากให้ผู้ที่มาชุมนุม พ่วงพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปกับการขับไล่ คมช.ด้วย"


นอกจากนั้น ยังได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไล่นายสุรพล นิติไกรพจน์ ออกจากการเป็นอธิการบดี
มิเช่นนั้นแล้วทางผู้ชุมนุมจะพ่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปในการขับไล่ คมช.อีกด้วย - พร้อมกันนี้ จักรภพ
ยังได้กล่าวโจมตีตุลาการรัฐธรรมนูญ ในวิธีการวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของ
กรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ว่า เป็นตุลาการเผด็จการ และเป็นตุลาการสวะอีกด้วย

ต่อมา นพ.เหวง โตจิราการได้ขึ้นประกาศเชิญชวนประชาชนให้เคลื่อนขบวนไปที่หน้า บก.ทบ. เพื่อขับไล่ คมช.
โดยขอให้มีการตะโกนคำปฏิญาณพร้อมกันคือไม่โกรธ ไม่ตอบโต้ ไม่ใช้ความรุนแรง จากนั้น แกนนำ นปก. ทั้ง
7 คน กระจายเสียง 6 ล้อ เคลื่อนขบวนออกจากท้องสนามหลวง เพื่อมุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของพีทีวี ซึ่งเป็นนักศึกษาจากรามฯ จำนวน 500 คน ได้จับมือประสานล้อมรถ
ของแกนนำเอาไว้ ป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในบริเวณ

เวลา 21.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินมารวมตัวกันที่หน้าศาลฎีกา โดยมีการปิดการจราจรฝั่งขาเข้า
ทั้งนี้ประชาชนหลายหมื่นคนได้ใช้ "ผ้าสีเหลืองไ มีคำว่า "คมช.ออกไป" โพกหัวเป็นสัญลักษณ์ พร้อมถือธงแดงมี
ข้อความว่า คมช.ออกไป และเริ่มเดินเท้าออกจากสนามหลวง โดยมีรถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน ขับนำหน้า
มุ่งตรงมายังถนนราชดำเนินกลาง ขณะที่แกนนำ นปก.ได้ยืนปราศรัยปลุกเร้าประชาชนอยู่บนรถ ซึ่งอยู่ที่กลางขบวน

เวลา 22.00 น. รถเวทีของ วีระ มุสิกพงศ์ ได้เคลื่อนขบวนออกจากท้องสนามหลวง
ขณะนั้น หัวขบวนไปติดอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ มีแผงเหล็กและกำลังเจ้าหน้าที่
ตำรวจปราบจลาจลยืนแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งถือโล่ปิดกั้น พร้อมวางแผงเหล็กและโล่ควบคุมฝูงชนสกัดกั้นไว้ทั้ง
2 ฝั่งไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนต่อไปยังกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งทำให้ขบวนต้องหยุดตรงนั้น ที่บริเวณด้านหน้า
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาราชดำเนิน

ในระหว่างหัวขบวนต้องหยุดชะงัก มวลชนยังคงหนุนเนื่องไปข้างหน้าไม่หยุด เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับหัวขบวน
ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้คนมากมาย และท้ายขบวนอยู่ไกลถึงบริเวณหน้ากองสลากฯ บางส่วนก็ยังเคลื่อนไม่พ้นสนามหลวง
ด้วยซ้ำ .. สิ่งที่ตามมา คือการเบียดกัน เมื่อข้างหน้าไปไม่ได้ ข้างหลังก็ดันเข้ามา ฝูงชนจึงขยายออกไปทางฝั่งถนน
ราชดำเนินขาออก จากเดิมที่ปิดแค่ราชดำเนินขาเข้า ก็เริ่มเกะกะการจราจรทั้งสองฝั่งถนน (เพราะไม่มีที่ยืน)

หน่วยรักษาความปลอดภัยของ PTV ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งพยายามส่งข่าวให้มวลชนหยุดเดินก่อน และยัง
ต้องยับยั้งมวลชนที่อยู่แนวหน้าไม่ให้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีเสียงเตือนจาก นปก. ตลอดเวลาว่า อย่าขว้างปา
สิ่งของใส่ตำรวจ ต่อมาไม่นานนัก รถเวทีขยายเสียงของแกนนำก็ได้เคลื่อนมาจากด้านท้ายของขบวนมาอยู่ที่ด้านหน้า
พร้อมเปิดปราศรัย ขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ หยุดเดินเบียดขึ้นมาด้านหน้า จากนั้นได้มีการส่งแกนนำไปเจรจากับ
ตำรวจขอให้เปิดทางให้แก่กลุ่มผู้เดินขบวน

รายงานข่าวจาก Thai E News กล่าวว่า
" ระหว่างที่ขบวนของผู้ชุมนุมถูกสกัดกั้นที่หน้าศึกษาภัณฑ์
ทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งประกอบด้วย นพ.เหวง โตจิราการ มานิตย์ จิตจันทร์กลับ จตุพร พรหมพันธุ์
ได้เข้าเจรจากับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ขอให้เปิดทาง ระหว่างนั้นกลุ่มรักษาความปลอดภัยของ นปก. ได้คล้อง
แขนผู้ชุมนุมไม่ให้เข้ามาปะทะ พร้อมกับตะโกนขอให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดนั่งลงกับพื้นแต่ไม่ได้ผล "

ซึ่งในกรณีนี้ การร้องขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลงกับพื้นนั้น มวลชนคงไม่ได้ยิน
เพราะ (พวกเรา) อยู่ในเหตุการณ์ด้านหน้าขบวน ก็ไม่ได้ยินคำขอดังกล่าว

กระทั่งสถานการณ์เริ่มตึงเครียด ทางกลุ่ม นปก.ได้นำรถข่าวของสถานีโทรทัศน์ PTV ขับเข้าดันรั้วแผงเหล็ก
ซึ่งเป็นการเคลื่อนรถเข้าไปเบียดเฉยๆ เพราะไม่มีพื้นที่ให้เร่งความเร็วแต่อย่างใด ส่วนมวลชนอยู่ในอารมณ์
รำคาญตำรวจ ก็แห่เข้าไปรื้อรั้ว - แผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ มีการขว้างปาขวดน้ำพลาสติกกันเล็กน้อย แต่ฝ่าย
ตำรวจตกใจ แตกแถววิ่งหนีชุลมุนราวกับมีเรื่องราวใหญ่โต

ผู้ชุมนุมยังได้โห่ร้องเสียงดังสนั่น และจำนวนหนึ่งได้ก้มลงกราบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนออกเดินต่อ

หลังจากนั้น มวลชนได้เคลื่อนขบวนจากถนนราชดำเนินกลางเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก
โดยมี "นพรุจ วรชิตวุฒิกุล" แกนนำกลุ่มพิราบขาว ขึ้นรถกระจายเสียงแล่นนำหน้าผู้ชุมนุม จนถึงบริเวณหน้า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 350 นาย ประกอบด้วยนครบาลและปราบจลาจล
ตั้งแถวสกัดโดยการนำรั้วเหล็กมาขวางถนนทั้งสองฝั่งเอาไว้ ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน
ทำให้มวลชนบางส่วนที่ถูกแก๊สน้ำตาเกิดอาการไอจาม เสียกระบวนไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าต่อพร้อม
ตะโกนขับไล่ คมช. เสียงดังลั่น มุ่งหน้าสู่ "กองบัญชาการกองทัพบก"

แกนนำได้ประกาศบนรถขอให้ตำรวจเปิดทางและอย่าใช้อารมณ์กับประชาชน
หลังจากเจรจาเพียงครู่เดียว ตำรวจก็ได้เปิดทางให้ผู้ชุมนุมผ่านได้โดยสะดวก

เวลา 22.20 น. ขบวนผู้ชุมนุมได้เดินทางถึงหน้ากองทัพบก ทาง กทม. ปิดไฟถนนมืดมิดตลอดสาย ในเชิง
กลั่นแกล้ง หรืออาจเป็นการปิดไฟมืดเพื่อเตรียมแผนร้ายต่อประชาชน อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะผู้ว่า กทม.
ก็เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งร่วมสนับสนุนคณะรัฐประหารชุดนี้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.มานิตย์ วงศ์สมบูรณ์ ผบก.น.1 ได้นำตำรวจประมาณ 100 นาย พร้อมโล่ควบคุมฝูงชน
ปิดประตูทางเข้าหน้ากองทัพบกเอาไว้ และยังได้ นำรถฉายไฟเคลื่อนที่ของตำรวจนครบาล ให้แสงสว่างให้
กลุ่มผู้ชุมนุม

เหตุการณ์ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก นาทีแรกที่ นปก. เดินทางไปถึง
มีรายงานทำนองว่า มวลชนกรูเข้าไปที่รั้วและประตู คล้ายจะมีการปีนเข้าไป จนแกนนำต้องห้ามปรามนั้น
ในความเป็นจริง ในสถานการณ์จริงขณะนั้น ไม่มีมวลชนพยายามจะเข้าไปในกองทัพบกแต่อย่างใด การที่มี
ประชาชนเข้าไปเกาะอยู่ตามรั้วของกองทัพบก ก็เพราะแกนนำประกาศว่าจะมาที่กองทัพบก แต่ไม่ได้บอกว่า
ต้องยืนห่างจากรั้วกองทัพบกกี่เมตร ดังนั้น เมื่อคนเดินมาถึง ก็เข้าไปนั่งพิงรั้ว พักเหนื่อยให้หายเมื่อยเท่านั้น
เนื่องจากมวลชนกลุ่มนั้นเป็น ประชาชนวัยกลางคน เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเห็นที่นั่งพิง ก็เข้าไปนั่งพิง มีบางคนโหน
รั้วเล่นบ้าง เพื่อยืดแขนยืดขาตามประสาคนเริ่มมีอายุ อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปก. เห็นว่าภายในกองบัญชาการ
กองทัพบกปิดไฟมืด และมีรายงานว่ามีกองทหารประจำการอยู่ภายในจำนวนมาก จึงเกรงว่า อาจมีการสร้าง
สถานการณ์รุนแรงจากฝ่ายอำมาตย์ และอาจมีหน่วยแทรกซึมอยู่ในฝูงชนเพื่อก่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้
เรียกให้ทุกคนออกห่างจากรั้ว และให้พ้นจากบริเวณถนนคู่ขนานหน้ากองทัพบก

ขณะที่มวลชนเคลื่อนขบวนมาถึงกองบัญชาการกองทัพบก
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวทางสถานีวิทยุ จส.100 โฆษณาชวนเชื่อ
ให้คนกรุงเทพซึ่งเป็นแนวร่วมรัฐประหาร มีความอุ่นใจในศักยภาพของ คมช. และทำการใส่ร้ายป้ายสีประชาชน
ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนกรุงเทพ ซึ่งส่วนมากเป็นพวกพันธมิตรฯ รู้สึกมีความสุขที่ได้เป็นศัตรู
กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

นอกจากนั้น พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยังกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงมาอยู่ด้านหน้า
กองบัญชาการกองทัพบก มีประมาณ 14,000-15,000 คนบ้าง 8,000 คนบ้างตามแต่อารมณ์ ต่อมา เมื่อเวลา
ประมาณ 23.15 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด คนนี้คนเดิมได้ให้สัมภาษณ์สดทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
อีกครั้ง โดย พ.อ.สรรเสริญสวมหมวกแบร์เรต์สีดำ และมีสีหน้าซีดอย่างเห็นได้ชัด ให้สัมภาษณ์ว่าผู้ชุมนุมใช้
ถ้อยคำหยาบคาย และมีเพียง 2,000 คน ส่วนทหารพร้อมจะปฏิบัติภารกิจ แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ซึ่งในเรื่อง "การใช้ถ้อยคำหยาบคาย" คงจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะมวลชนส่วนใหญ่ใช้ถ้อยคำหยาบคายจริงๆ มีการ
ก่นด่าพลอเอก เปรม พลเอกสุรยุทธ์ พลเอกสนธิ กันทั่วทุกมุมถนนที่มีการชุมนุม และมักเปรียบเทียบบุคคลในคณะ
รัฐประหารเหล่านี้กับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่ง (เหี้ย) ดงนั้น คำกล่าวของโฆษก คมช. ในประเด็นคำหยาบคายจึง
ปฏิเสธไม่ได้เลย แต่ทว่า ประเด็นจำนวนผู้ชุมนุมนั้น ในความเป็นจริงแล้ว มีมากกว่า 30,000 คนอย่างแน่นอน

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยังกล่าวด้วยว่า
"เราคงต้องทำตามเสียงประชาชนส่วนใหญ่ คงมาตอบสนองกลุ่มผู้เรียกร้องไม่ได้ทุกประเด็น"
ซึ่งแสดงจุดยืนอันมั่นคงของ คมช. ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของอำมาตย์นั้นคือ "พวกปฏิกิริยาชนชั้นกลางในกรุงเทพ"
ที่ คมช. จะรับฟัง แต่ประชาชนในภาคเหนือ อีสานนั้นไม่ใช่ประชาชนที่ คมช. จะรับฟังหรือปฏิบัติตามความต้องการ
ถึงแม้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในคืนนั้น ล้วนเป็นคนกรุงเทพเกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่ คมช. จะรับฟัง
เพราะ "คนที่สามารถคิดได้ด้วยตนเอง และไม่เดินตามกระแสปลุกปั่นของสื่อกระแสหลัก" ย่ิอมไม่ใช่พวกปฏิกิริยา
แม้จะเป็นชนชั้นกลาง แต่ก็ไม่ใช่ประชาชนของอำมาตย์ - คมช. จึงไม่มีความจำเป็นต้องสนใจ

ในช่วงเวลา 23.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุม นปก. เดินทางถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบกแล้ว และเปิดเวทีปราศรัย
บนรถหกล้อ หรือเวที - กองบัญชาการเคลื่อนที่ รถเวทีหลักจอดอยู่หน้าประตูกองทัพบก ส่วนพื้นที่ที่มีมวลชนนั่งบ้าง
ยืนบ้างนั้น เริ่มตั้งแต่ด้านข้างอาคารสหประชาชาติ (หรือสุดรั้วกองทัพบก) ซึ่งตรงนั้นมีตำรวจตั้งรั้วเหล็กขวางตลอด
แนวถนนราชดำเนิน เพื่อไม่ให้ประชาชนล้นเข้าไปทางสะพานมัฆวาน รั้วที่ตั้งมีอยู่มากกว่าหนึ่งชั้น .. นอกจากนั้นยัง
มีรถเวทีย่อยของ กลุ่มพิราบขาว ซึ่งเป็นแนวหน้าของ นปก. จอดอยู่ติดกับรั้วของตำรวจ เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการกระทบ
กระทั่งกับเจ้าหน้าที่ และดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมโดยรวม ส่วนบนถนนราชดำเนินทั้งสองฝั่ง
มีคนเต็มทุกตารางนิ้ว ตั้งแต่ข้างรั้วสหประชาชาติไปจนถึงแยก จปร. พื้นที่เลยไปจากนั้นก็ยังมีผู้คน แต่ไกลจากรถเวที
เกินกว่าจะรับฟังอะไรได้ยิน ผู้คนจึงพยายามเบียดกันเข้ามาที่หน้าสนามมวยราชดำเนิน หน้ากองทัพบก

วีระ มุสิกพงศ์ หนึ่งในแกนนำ นปก. และประธานบริหารสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม PTV กล่าวว่า
ให้เวลา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธาน คมช. รวมทั้ง คมช.ทุกคนลาออกภายใน 7 วัน

นายวีระยังกล่าวว่า "เราไม่ได้มาชวนทะเลาะวิวาทกับใคร เราจะไม่ไปล้ำลอดเขตรั้วของ กอง บก.ทบ.
เพราะเจ้าของบ้านเขาไม่ต้อนรับ เราจะนั่งรอที่นี่ เราจะเป็นแขกที่ดี เป็นประชาชนที่ดี - มีผู้บังคับบัญชาระดับสูง
ของ คมช. 8 คนเท่านั้นที่เอาอำนาจไปจากประชาชน ทหารที่เหลือเป็นกองทัพแห่งชาติที่มีจุดยืนเดียวกับประชาชน
เราขอเจรจากับคน 8 คน ที่ใช้ชื่อว่า คมช เรารักสันติ ไม่พกพาอาวุธ เรามาบอกท่านว่า คมช. ออกไป"

ต่อมาช่วงประมาณเที่ยงคืน
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สถานี
โทรทัศน์ทีไอทีวี อีกครั้งว่าผู้ชุมนุมเหลือแค่ 2,000-3,000 คน ทั้งที่ในความจริง ประชาชนที่ชุมนุมอยู่หน้ากองทัพบก
ยังคงมีจำนวนหลายหมื่นคนไม่ต่าง หรือไม่ลดลงไปจากเมื่อตอนที่เดินทางมาถึง

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตามมาป่วน - สร้างสถานการณ์


ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คือหนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เป็นลูกชายของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (อดีตนายกรัฐมนตรี) เป็นหลานของจอมพลผิน ชุณหะวัณ
ผู้นำคนหนึ่งของการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
(ซึ่งทั้งชาติชาย และ ผิน มีส่วนร่วม)

เมื่อเวลาประมาณ 00.15 น.
ขณะที่แกนนำ นปก.ปราศรัยบนรถหกล้อ - เวทีชั่วคราว ก็ยังมีการตั้งอีกเวทีของกลุ่มพิราบขาว 2006 เพื่อปราศรัย
โจมตี คมช.อยู่ใกล้ๆ กัน นำโดย นพรุจ วรชิตวุฒิกุล ณ บริเวณใกล้อาคารสหประชาชาติ ติดกับรั้งแนวกั้นของ
ตำรวจ -- ระหว่างนั้น ‘อาจารย์โต้ง’ หรือ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้ผ่านมาในอาการมึนเมา -- ตะโกนด่า นปก.
ข้ามผ่านรั้วเหล็กของตำรวจ (แต่ตัวยังยืนอยู่หลังแนวตำรวจ) ทำให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นด่าตอบ ด่ากันไปกันมา

จนกระทั่งนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 มองเห็นจึงได้ประกาศบนเวทีว่ามีคนเข้ามาก่อกวน
กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งกำลังอยู่ในอารมณ์เตรียมพร้อม และมีความโกรธแค้นศัตรูฝ่ายพันธมิตรฯ จึงได้วิ่งกรูกันเข้าไป
ตะโกนขับไล่ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเพิ่มกำลังเข้ามาขวาง มิให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าใกล้กันได้ -

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หิ้วปีกนายไกรศักดิ์ ซึ่งยังอยู่ในสภาพมึนเมาให้ออกไปจากบริเวณ และนำไปส่งที่บ้าน

รุ่งเช้า นายไกรศักดิ์ ชุญหะวัณ ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่าถูกผู้ชุมนุม นปก. ทำร้าย ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น
รอยช้ำเล็กน้อยตามตัว..น่าจะเกิดจากแรงหิ้วของตำรวจ - เพราะหากว่านายไกรศักดิ์ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายจริงแล้ว
คงไม่มีชีวิตรอดกลับมาแน่นอน

รายละเอียดเพิ่มเติมจากเหตุการณ์
การตะโกนด่าทอ(ข้ามรั้ว)นั้น เกิดขึ้นบริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ใกล้สะพานมัฆวานฯ ขณะที่มวลชนส่วนใหญ่
แออัดกันอยู่หน้าสนามมวยราชดำเนิน ไกลออกมาอีก เมื่อรู้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น มีเสียงร่ำลือกันว่า ทหารส่งกำลัง
เข้ามาสลายการชุมนุม จึงทำให้ผู้คนโกรธแค้น และพุ่งเข้าใส่บริเวณสหประชาชาติ พร้อมๆกันจำนวนมาก ด้วยหวัง
ว่าจะเข้าไปต่อตีกับทหาร แต่เมื่อเป็นแค่คนเมา พวกเขาก็เดินกลับมานั่งฟังปราศรัยต่อที่หน้าสนามมวย

นปก. เดินทางกลับสนามหลวง

การเดินขบวนในคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 เป็นครั้งแรกในนาม นปก. และเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
แม้แต่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สื่อกระแสหลักของไทยประโคมข่าวว่ามากันเป็นแสนๆนั้น
ก็แค่ราคาคุย มีมวลชนไม่เคยเกิน 30,000 - 50,000 คน (ประเมินสูงสุด) และจำนวนคนที่ประเมินให้สูงสุดแล้ว ก็
ยังมีจำนวนพอๆกับการชุมนุมเพียงครั้งแรกของ นปก. ซึ่งการชุมนุม นปก. ในคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 ถือเป็นการ
ฝึกซ้อม - ชุมนุมเล็กๆเท่านั้น เทียบไม่ได้กับการชุมนุมในนาม "คนเสื้อแดง" ในปีถัดมาเลย

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุว่าคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 เป็นครั้งแรกของ นปก. จึงต้องมีการทำความเข้าใจกันมากพอ
สมควรระหว่างแกนนำกับมวลชน แกนนำบางส่วนมีประสบการณ์มาจากเหตุการณ์นองเลือด พฤษภาคม พ.ศ. 2535
เข้าใจสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การปะทะ และต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะ ดังจะเห็นจากการพร่ำบอกซ้ำแล้วซ้ำอีก
ถึงขั้นตอนต่างๆ รวมถึงวินัยของผู้ชุมนุม อันที่จริง มวลชนแรกเริ่มของ นปก. ส่วนมากล้วนเป็น "ผู้ใหญ่วัยกลางคน"
ผ่านประสบการณ์ชีวิต รู้จักภัยอันตรายและสันดานของทหารไทย หลายคนผ่านเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 2516
หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือ พฤษภาคม 2535

คืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 วีระ มุสิกพงศ์ ย้ำนักย้ำหนาถึงเหตุแรกเริ่มของการปะทะกัน เมื่อปี พ.ศ. 2516 ว่า
" แม้เราจะเดินทางมาอย่างเรียบร้อยและมีการเจรจาตกลงกันได้ แต่เมื่อพี่น้องทยอยเดินทางกลับกันอย่างไม่เป็น
ระเบียบ ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ก็มีการใช้ความรุนแรงปราบปรามที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชนเมื่อตอนที่จะมีการ
แยกย้ายกลับบ้าน "
คือเมื่อมวลชนสลายตัวเองไปอย่างฉับพลัน ก็จะกระจัดกระจายไปตามทางตนเอง และปราศจากพลังใดๆลงโดย
สิ้นเชิง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสลอบทำร้ายได้ง่าย และเมื่อยกพวกมาช่วยกัน ก็จะกลายเป็นการปะทะย่อยๆ
ที่ประชาชนจะเสียเปรียบ เพราะได้สลายตัวเองไปแล้ว ในขณะศัตรูยังรวมกันเป็นกลุ่มและมีอาวุธในมือ - ดังนั้น
การหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ คือรวมกันเป็นกลุ่มก้อนจนนาทีสุดท้าย แล้วกลับไปตั้งหลักยังฐานที่มั่นเดิม จากนั้น
ค่อยๆแยกย้ายกันกลับ โดยไหลออกไปจากจุดๆเดียวกัน ไม่ใช่กระจายไปคนละทิศละทาง

การเดินกลับสนามหลวงของคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2550 ได้กลายเป็นรูปแบบปฏิบัติสืบต่อมาจนถึง "คนเสื้อแดง"


การเคลื่อนไหวของ นปก.
ความเคลื่อนไหวช่วง มิถุนายน กรกฎาคม 2550
การขยายแนวร่วมสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน การคุกคามจากทหาร
การเกิดของสีแดง การปรับยุทธวิธีของ นปก